วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงข่าว สรุปผลงาน 6 เดือนแรก ศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร หรือศูนย์ AFC (Agriculture and Food Coordination and Public Relations Center : AFC) เพื่อการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ-ล้นตลาดของไทย เป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรและอาหารของไทย
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะ ประธานคณะทำงานบริหารศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร กล่าวว่า ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ AFC (วันที่ 1 สิงหาคม 2567) หอการค้าไทย มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ-ล้นตลาดของไทย ผ่านกลไกของศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (AFC) โดยตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาศูนย์ AFC ได้ดำเนินการเดินหน้าแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำที่สำคัญร่วมกับภาคีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 28 หน่วยงานอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น
ศูนย์ AFC ได้ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ดำเนินการช่วยรับซื้อสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ปริมาณ 20 ล้านกิโลกรัม มูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท และในปี 2568 มีแผนรับซื้อปลาโอจากเรือไทย ปริมาณ 50,000 ตัน มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ-ล้นตลาด อีกทั้ง ยังจับมือกับ สมาคมภัตตาคารไทย จัดงาน Thailand Food Travel Mart 2024 กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยส่งเสริมสินค้าของเกษตรกร เช่น ปลากะพงขาวและโคเนื้อ ถือเป็นการยกระดับอาหารไทยสู่เวทีโลก และยังช่วยกระตุ้นรายได้มากกว่า 7 แสนล้านบาท
และยังร่วมมือกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการจัดช่องทางระบายสินค้า “มันเส้น” ที่มีคุณภาพ สะอาด และได้มาตรฐาน ไปยังกลุ่มโรงงานหรืออุตสาหกรรมแปรรูปโดยเฉพาะอาหารสัตว์ โดยช่วยประสานงานระบายมันเส้นในการผลิตอาหารสัตว์ กว่า 2.5 ล้านตันหัวมันสด หรือคิดเป็น มันเส้นประมาณ 1 ล้านตันมันเส้น และร่วมแก้ไขปัญหาหอมแดง อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเชื่อมโยงและเปิดตลาดรับซื้อหอมแดงให้กับเกษตรกรและผู้ค้าปลีกโดยตรง
ในส่วนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง ได้ประสานงาน บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรในท้องถิ่นให้สามารถจำหน่ายสินค้า และยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร รวมทั้งรับซื้อสินค้าเกษตรตรงจากเกษตรกรท้องถิ่นตลอดทั้งปี 2567 ปริมาณ 218,356 ตัน มูลค่า 14,172 ล้านบาท และ ท็อปส์ ธุรกิจกลุ่มฟู้ด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น ทั้งการรับซื้อสินค้า จัดพื้นที่จัดจำหน่าย ตลอดจนให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อนำสินค้าเข้ามาจัดจำหน่ายใน ท็อปส์ ภายใต้ จริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต โดยสามารถช่วยเหลือเกษตรกรไปมากกว่า 11,000 ครัวเรือนรวมถึง โก โฮลเซลล์ (GO WHOLESALE) ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบอาหาร เพื่อผู้ประกอบการ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ที่มีนโยบายสนับสนุนสินค้าเกษตรจากเกษตรกรรายย่อยและรับซื้อผลผลิตโดยตรง โดยการเพิ่มช่องทาง จัดจำหน่ายให้เกษตรกรเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร โฮเรก้า ผ่านสาขาของ โก โฮลเซลล์ 13 แห่งทั่วประเทศ อาทิ ผักออร์แกนิก จังหวัดสงขลา ปลานิล-ปลาทับทิม จังหวัดขอนแก่น กบอุดรสร้างโลก จังหวัดอุดรธานี ส้มสายน้ำผึ้ง อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงช่วยระบายสินค้าในช่วงประสบปัญหาภัยพิบัติ หรือล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง
ตลอดจน ศูนย์ AFC ได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาร้องเรียนสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ร่วมกับ หอการค้าจังหวัด และเครือข่ายมากกว่า 10 จังหวัด อาทิ หอการค้าจังหวัดสุโขทัย จังหวัดแพร่ จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดระนอง จังหวัดลำพูน จังหวัดชัยนาท จังหวัดสงขลา เพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ-ล้นตลาด เป็นต้น
ดร.พจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น หอการค้าไทย ยังมีแผนในการขับเคลื่อนศูนย์ AFC ในปี 2568 โดยจะมุ่งเน้นขยายกลไกศูนย์ AFC ให้กับคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดทั้ง 5 ภูมิภาค เพื่อเป็น Center ร่วมแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในระดับท้องถิ่นร่วมกับเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม สุดท้ายนี้ ท่านสามารถแจ้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำและล้นตลาด ได้ที่หน่วยงานในจังหวัด อาทิ หอการค้าจังหวัด เกษตรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด เพื่อช่วยประสานงานกับศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (AFC) หรือ ส่งผ่านแพลตฟอร์มแจ้งปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ได้ที่เว็บไซต์หอการค้าไทย www.thaichamber.org หรือ ติดต่อโดยตรงเข้าศูนย์ AFC โทร. 02-018-6888 ต่อ 2600 , 6070