SMART to Know

ทิศทาง SMEs ไทย

พร้อมรับมือกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลก ในปี 2568

    ชีวิตของการเป็นผู้ประกอบการ SMEs ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะอยู่ในภาวะ “หายใจไม่ทั่วท้อง” เพราะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงและผันผวน มีความไม่แน่นอนสูงมาก ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ก็ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่สั่นคลอนให้เกิดความไม่มั่นคงอยู่เนือง ๆ เช่น ภาวะสงครามในหลาย ๆ จุด แม้ว่าจะยังไม่ลุกลามใหญ่โตไปกว่านี้ แต่ก็ยังไม่สงบเสียทีเดียว

    ประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนอีกอย่างหนึ่ง คือการก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีนโยบายสงครามการค้าอะไรที่จะกระเทือนต่อเศรษฐกิจโลกอีก เท่าที่เห็นตอนนี้ก็คือ การส่งสัญญาณกดอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันลง เพื่อลดต้นทุนสินค้าในประเทศ แล้วค่อยขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจากต่างประเทศในลำดับต่อไป เพราะหากขึ้นในตอนนี้ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น สินค้าจะแพงขึ้นทันที และจะกดดอกเบี้ยไม่ลง
ขณะที่ เศรษฐกิจไทยในตอนนี้จะเริ่มฟื้นตัว หลายสำนักคาดว่าปีนี้จะโตได้ประมาณ 3% แต่ก็ยังมีความกังวลจากสถาบันการเงินหลายแห่งที่มองว่า เศรษฐกิจไทยอาจโตได้เพียง 2.4% เนื่องจากปัญหา NPL รวมทั้งกังวลเรื่องการเติบโตของภาคธุรกิจ เพราะดูจากตัวเลขสินเชื่อโดยรวมในปีที่ผ่านมา “ติดลบ” เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี


ต้องเข้าใจธุรกิจของตัวเองก่อน

    ผู้ประกอบการจำนวนมากมองแค่ว่าจะต้องขายสินค้าอย่างไรให้ได้มากที่สุด บางรายก็มุ่งที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว หรือบางรายที่เก่งเรื่องการผลิต ก็มุ่งที่จะผลิตสินค้าออกมาให้เร็วและมากที่สุด แต่สุดท้ายก็ “ตกม้าตาย” เพราะสิ่งที่คิดไว้ไม่เป็นตามที่คาดหวัง ดังนั้น สิ่งที่ SMEs ต้องทำสิ่งแรก คือ การกำหนดเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจให้ชัดเจน ว่าธุรกิจของเราต้องการอะไร ต้องการกำไรที่สูง ต้องการมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ ต้องการครองส่วนแบ่งการตลาดมากน้อยแค่ไหน ดู Demand Supply เข้าใจลูกค้า เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ เข้าใจเรื่อง Logistic โดยรวมแล้วก็คือ “ต้องเข้าใจธุรกิจ” นั่นเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการควรต้องรู้ก่อน

    ต่อมาก็ควรเข้าใจปัจจัยในการกำหนดยอดขาย และปัจจัยกำหนดต้นทุน ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างผลกำไร โดยทั้งสองปัจจัยหลักนี้ ก็จะมีปัจจัยย่อย ๆ ที่ส่งผลต่อเรื่องดังกล่าวด้วย อาทิ การกำหนดราคาขายของเราเอง เท่าไหร่จึงจะดีที่สุด แตกต่างจากคู่แข่งแค่ไหน ใครเป็นกลุ่มเป้าหมาย มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน รสนิยมเป็นอย่างไร ส่วนในเรื่องต้นทุน ก็จะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ ค่าแรง ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ ปัจจัยมากมายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เราต้องเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งของไทยและของโลก เพราะมันจะกระทบต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง


อย่าหลุดกระแส “ความยั่งยืน”

     ตามปกติแล้ว การทำธุรกิจย่อมต้องการยอดขายที่ดี กำไรสูง หรือต้องการ Market Share เพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการจะมองเพียงเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ จากการสำรวจผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจครอบครัวในไทย ที่มียอดขายเกินกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี เมื่อ 15 ปีก่อน พบว่า เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ธุรกิจให้ความสำคัญ คือเรื่อง “ความยั่งยืน” เป็นหลัก ไม่ได้มองเพียงกำไรระยะสั้น นั่นแปลว่า ผู้นำภาคธุรกิจมองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มานานแล้ว ซึ่งปรากฏชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นเทรนด์ของธุรกิจในยุคปัจจุบัน

    กระแส ESG (Environment Social Governance) ในปัจจุบัน กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ บางคนอาจคิดว่าไม่น่าจะกระทบกับผู้ประกอบการเล็ก ๆ อย่างเรา เพราะไม่ได้ส่งออกไปไหน แท้ที่จริงแล้ว การเป็นรายเล็กแต่อยู่ใน Supply Chain ของรายใหญ่ก็จะถูกแรงกระแทกเช่นเดียวกัน เพราะรายใหญ่จะถูกกดดันจากกติกาโลก จึงไม่สามารถซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ไม่ได้ทำเรื่องนี้ นอกจากนั้น เรายังเห็นการเคลื่อนตัวในเรื่องความยั่งยืนจากสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่ง เช่น มีการออก Green Loan มีการพิจารณา ESG Score ของผู้ประกอบการที่มาขอสินเชื่อ ซึ่งหากผู้ประกอบการใส่ใจในเรื่องนี้ ก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้น เป็นต้น     ดังนั้น หากผู้ประกอบการจะบริหารต้นทุนให้ต่ำลงในระยะยาวแล้ว จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย


เข้าใจโลก เข้าใจการเปลี่ยนแปลง

    ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า โลกในยุคปัจจุบันมีความผันผวนไม่แน่นอน เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย โดยในการประชุม World Economic Forum ที่ผ่านมา พบว่า ทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่อง AI สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจและตามให้ทัน ดังนั้น การทบทวนตัวเองบ่อย ๆ การปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ จึงเป็นทางออกที่ดีของ SMEs

    โลกต่อจากนี้ จะเป็นโลกที่มีแต่การเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงการเมืองระหว่างประเทศ แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คำถามก็คือ “เราปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้หรือยัง” ยกตัวอย่างเรื่องโครงสร้างจำนวนประชากร ตอนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคน Gen Y กับคน Gen Z ถ้าอยากจะขายของได้เยอะ ๆ ต้องถามตัวเองว่า สินค้าของเราตอบสนองคน 2 กลุ่มนี้หรือยัง


ทำธุรกิจอะไรดี

    หากพิจารณาตามแนวโน้มความสนใจของโลก ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและ AI จึงลองเอาคำถาม 10 เทรนด์ฮิตในยุคนี้ ไปถาม AI ปรากฎว่าคำตอบที่ได้ คือ1) AI 2) Metaverse 3) NFT (Non-Fungible Token) 4) Environment & Sustainability 5) Health and Wellness 6) E-commerce 7) Social Media 8) Remote Work 9) Personalized Marketing และ 10) Cybersecurity

    ส่วน 10 เทรนด์ฮิต ในแบบไทยๆ (จากมุมมองของ อ.ธนวรรธน์) ก็มีความคล้ายคลึงกัน โดยธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีจะเกี่ยวข้องกับ 10 เรื่องนี้ ได้แก่ 1) สะดวกสบาย 2) สวยงามสะอาด 3) สิ่งแวดล้อม 4) สมัยใหม่ 5) สำราญบันเทิง 6) สร้างสรรค์ 7) เสี่ยง & ป้องกันความเสี่ยง 8) สะสม (ความมั่นคงมั่งคั่ง) 9) สโมสร (การรวมกลุ่ม) และ 10) สวดมนต์ สายมู


8M…เรื่องพึงจำในการทำธุรกิจ

    การดำเนินธุรกิจที่ดี ควรพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
•    Man Power ทีมงานที่ดี มีคุณภาพ หมั่น Upskill Reskill
•    Money มีเงินทุนเพียงพอ
•    Machine เครื่องมือเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ
•    Method ขั้นตอนการดำเนินงานที่ดี
•    Marketing การตลาด
•    Material วัสดุประกอบการดำเนินงาน
•    Management การบริหารจัดการ
•    Morale ความพึงพอใจ


Marketing Mix ส่วนผสมที่ลงตัว
 

 


    การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก คือความท้าทายที่ SMEs ต้องเผชิญ ในปี 2568 ความรู้ความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่สำคัญ แต่การปรับตัวและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมก็สำคัญไม่แพ้กัน สำคัญกว่านั้น คือการมี “พี่เลี้ยง” ที่ดี ที่คอยให้คำแนะนำ...สนใจหาพี่เลี้ยงเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ จากธุรกิจชั้นนำระดับประเทศ ลองเข้ามาร่วมโครงการ Big Brother ของคณะเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก หอการค้าไทย ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัคร season 9 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.thaichamber.org/view/345/big-brother

 

อ้างอิงจากการบรรยายเรื่อง “ทิศทาง SMEs ไทย พร้อมรับมือกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลก ในปี 2568”
โดย รศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ในงานปิดการอบรม Big Brother season 8
วันที่ 28 มกราคม 2568

 

ข่าวอื่นๆ