ในช่วงที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องเปลี่ยนผู้นำ มักจะเกิดสถานการณ์อย่างหนึ่งขึ้นระหว่างพ่อกับลูก ก็คือความรู้สึกแบบ “ทั้งรักทั้งชัง” เป็นอาการที่ใจหนึ่งก็อยากให้ลูกขึ้นมาสืบทอดกิจการ แต่อีกใจหนึ่งก็ยังหวั่นวิตกกับพฤติกรรมของลูก บางคนกังวลหนักกว่านั้นก็คือ กลัวว่าหากมอบอำนาจให้กับลูกหลานไปแล้ว ตัวเองที่เป็นพ่อแม่จะกลายเป็นอดีตไป กลัวจะถูกละเลย เพราะวิธีคิด วิธีดำเนินธุรกิจของลูก ช่างแตกต่างจากรุ่นของตน...จริงๆ แล้ว คนทั่วไปมักจะคิดว่า การแข่งขันน่าจะเกิดขึ้นระหว่างพี่น้องมากที่สุด แต่ที่คาดไม่ถึง และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริง จากกรณีศึกษาของผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัว ซึ่งพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งในเอเชียกลับเป็นการแข่งขันกันระหว่าง “พ่อกับลูกชาย”
ที่มาของการแข่งขันโดยไม่รู้ตัว มาจากการที่ลูกชายเติบโตขึ้นและเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัว แล้วเริ่มตั้งคำถามถึงวิธีการดำเนินธุรกิจต่างต่างนานากับผู้ก่อตั้งธุรกิจ ผู้นำธุรกิจคนปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่ของตนเอง (หรือหมายรวมถึงญาติผู้ใหญ่ เช่น ลุง อา ฯลฯ) ในแบบที่คนรุ่นนี้ก็ไม่เคยเจอมาก่อน ทำให้ความสัมพันธ์คนสองรุ่นนี้เป็นไปแบบ “ทั้งรักทั้งชัง” (Love-Hate Relationship) และอาจพาลทำให้ความรักที่พ่อแม่เคยให้กับลูกในวัยเด็กเปลี่ยนไป เมื่อมีความเป็นปรปักษ์เกิดขึ้น ผู้ก่อตั้งหรือพ่อแม่ก็จะเปลี่ยนไปเป็น “เจ้านายที่ไม่มีเหตุผล” โดยจะถือว่าลูกที่โตแล้ว คือ “ศัตรูในธุรกิจ” เลยทีเดียว ถือเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อและเป็นหนึ่งใน “อุบัติเหตุของธุรกิจครอบครัว” เลยทีเดียว
เรื่อง Toxic ของธุรกิจครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ง่าย หากว่ามี 2 องค์ประกอบนี้เข้ามาผสมโรง นั่นคือ
1) การเลี้ยงดูแบบเปรียบเทียบ ซึ่งสร้างบรรยากาศของการแข่งขันกันเอง ทั้งในครอบครัวตนเองหรือระหว่างครอบครัว เช่น ใครเรียนเก่งกว่าใคร ใครทำงานอะไรได้ดีกว่าใคร เป็นต้น
2) มีสมาชิกในธุรกิจครอบครัวมากกว่าหนึ่งคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ทายาท คู่สมรสอย่างเขย สะใภ้
จากนั้น ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวหรือพ่อแม่เองก็อาจรู้สึกได้ถึงการแข่งขันโดยไม่รู้ตัว และทำให้รู้สึกไปได้ว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกนี่แหละที่กำลัง “วัดรอยเท้า” ตนเอง หรือพาลคิดว่าจะถอดตนออกจากตำแหน่ง
“ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ” เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือคิดกันไปเอง ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงในสองด้าน นั่นคือ
ผู้ก่อตั้งหรือพ่อแม่ จากการที่อำนาจที่เคยมีจะต้องถูกลดทอนไปให้ลูกหลาน นี่ก็ย่อมจะส่งผลให้ผู้ก่อตั้งหรือพ่อแม่กระทำการ ดังนี้
• ไม่ยอมวางมือ หรือไม่ยอมเกษียณตามกำหนดการที่วางไว้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า นี่ย่อมจะกระทบกับการวางแผนสืบทอดกิจการของครอบครัว
• ดึงอำนาจกลับจากทายาท เพื่อความมั่นใจว่า อำนาจที่มียังคงเดิม
• ทำหน้าที่เป็น “ค้านยัน” หรือเป็น “ผู้ตรวจสอบ” ทายาทไม่ว่าจะเสนอความคิด หรือโครงการอะไรก็ตาม ทำให้ความสัมพันธ์ร้าวลึกลงมากกว่าเดิม
ทายาท (โดยเฉพาะลูกชาย) เมื่อเติบโตและเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัว แต่กลับเจอเรื่อง Toxic เช่นนี้ก็เกิดผลสะท้อน ดังนี้
• ต้องการการยอมรับ เพราะรู้สึกว่า ตนเองโตแล้ว จึงไม่อยากให้พ่อแม่มองเป็น “ลูกแหง่” ซ้ำยังรู้สึกว่า ตนเองเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความเหนือกว่าด้วยซ้ำ
• เมื่อรู้สึกว่า “เหนือกว่า” แล้วเหตุใดตนเองจึงต้องพึ่งพาพ่อแม่ ทั้งเรื่องรายได้ ตำแหน่ง การทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง และสิทธิพิเศษอื่น ๆ สำหรับผู้บริหาร ฯลฯ
• “ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ” จะเข้มข้นขึ้นในใจลูกกว่าเดิม หากว่าพ่อมีพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
ความรู้สึกระหว่างพ่อกับลูกแบบ “ทั้งรักทั้งชัง” เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และก็มีที่รุนแรงจนกลายเป็นปรปักษ์กันนานหลายปี หรือบางกรณีก็ร้าวฉานกันนานแสนนาน อย่างไรก็ตาม กรณี “ความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง” นี้อาจจะคลี่คลายได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ
ผู้ก่อตั้งหรือพ่อแม่
• ใช้เวลาพัฒนาตนเอง ให้มีความรู้ความสามารถตลอดเวลา เพื่อลดช่องว่างระหว่างตนเองกับทายาท และจะเป็นผลให้ไม่มีความรู้สึกว่า ตนเองถูก “วัดรอยเท้า” ด้วย แทนที่จะใช้เวลาที่มีไปกับการตรวจสอบความคิดหรือโครงการของทายาท ทำให้เกิดความบาดหมาง และไม่ไว้วางใจกันเปล่า ๆ
• หากมีปัญหาที่หนักหนา การใช้ “คนกลาง” หรือ “คนกลางที่เป็นมืออาชีพ” เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย หรือช่วยแก้ปัญหาก็ถือเป็นทางออกที่น่าสนใจ
• ในการดำเนินกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ผู้ก่อตั้ง หรือพ่อแม่ซึ่งเตรียมดำเนินกระบวนการเพื่อสืบทอดกิจการร่วมกับบุตรหลาน อาจต้องเปลี่ยนกรอบความคิดบางอย่าง และเปิดใจ ลด “อัตตา” หรือตัวตน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าใครจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงความทรงจำที่เจ็บปวด จนถึงการปะทะกันด้วยอารมณ์รุนแรงจากการปฏิเสธและความโกรธ ฯลฯ
• ผู้ก่อตั้ง หรือพ่อแม่ต้องเลี้ยงดูและปลูกฝังค่านิยมให้ทายาทมีความกตัญญู และให้เกียรติกับพ่อแม่ หรือผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า รวมทั้งไม่สร้าง “การเลี้ยงดูแบบเปรียบเทียบ” ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวตนเองหรือระหว่างครอบครัว เช่น ใครเรียนเก่งกว่าใคร เป็นต้น เพื่อลดปัญหาการแก่งแย่งชิงดี ซึ่งจะสร้างความร้าวฉาน และสุดท้ายก็จะส่งผลสะท้อนกลับมาที่ครอบครัวของตนเองด้วย
ทายาท (โดยเฉพาะลูกชาย)
• ต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพ นับถือ “คุณค่า” ของผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัว พ่อแม่ รวมทั้งผู้นำคนปัจจุบันที่ถือเป็น “รุ่นใหญ่” ที่มีคุณูปการกับธุรกิจ ทั้งในแง่การสร้างรากฐานของธุรกิจ ประสบการณ์ ตลอดจนเครือข่ายความสัมพันธ์ (Connection) ทั้งกับคู่ค้า ลูกค้า และคนรอบข้าง
• ต้องไม่ทำตนเป็น “น้ำเต็มแก้ว” เพราะการที่จะขึ้นเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับนั้น ต้องใช้ทั้ง “ศาสตร์และศิลป์” ดังนั้น ทายาทเองก็ต้องพิสูจน์ตนเองให้ได้ถึง “ภาวะผู้นำ” ของตนเองด้วยว่า มีคุณสมบัติ “ถึงพร้อม” ทั้งคุณสมบัติ ศักยภาพของตนเอง ศักยภาพของการทำงานเป็นทีมกับสมาชิกรุ่นใหญ่ในครอบครัว และพนักงาน ตลอดจนความพร้อมทางด้านความคิด และอารมณ์ความรู้สึก
การส่งไม้ต่อไปยังลูกหลาน คือความปรารถนาของคนรุ่นพ่อ เพราะกว่าที่จะปั้นธุรกิจของตนเองให้เติบโตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางธุรกิจสาบสูญไปก็เพราะไม่มีคนมารับช่วงต่อ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย สำคัญไปกว่านั้น การมีทายาทขึ้นมาสืบทอดธุรกิจ ยังถือเป็นการรักษาคุณค่าที่ตนได้สร้างไว้ให้ดำรงคงอยู่ต่อไป แต่ด้วยวิธีคิด วิธีทำที่แตกต่างกัน ความไม่ลงรอยกันจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ บทสรุปของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ฟัง และหาจุดร่วมที่ดีที่สุด จึงจะเป็นความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว
ที่สำคัญ ทั้งสองฝ่ายต้องไม่ลืมว่า “ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน”
อ้างอิงเนื้อหาจาก https://www.famz.co.th/page/article_detail/?da_id=90