ย่อ / ขยาย

การส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูงระดับพื้นที่ (Area-Based) ของหอการค้าไทย ปี 2566-2567

               ภาคเกษตร ถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ทางการเกษตรมีจำนวน 149.75 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 46.7 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีจำนวนครัวเรือนภาคเกษตร จำนวน 7.8 ล้านครัวเรือน และกำลังแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรประมาณ 12 ล้านคน หรือร้อยละ 51 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี ในวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ผ่านมา ภาคเกษตรยังช่วยรองรับและโอบอุ้มเศรษฐกิจไทย โดยหลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ รวมทั้งปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานของโลก ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญได้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรภายในประเทศ และมีศักยภาพในการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ภาคเกษตรกลับมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross domestic product: GDP) เพียงร้อยละ 8.6 มีอัตราการเติบโตค่อนข้างช้าและมีความเปราะบางมากกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นของประเทศ นอกจากนี้ ยังเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียหลายประเทศ

               อีกทั้ง เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงทำการผลิตแบบเดิม โดยมุ่งเน้นเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ให้ผลผลิตต่ำและมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพืชมหาชนที่มีความเสี่ยงจากการมีอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น มีรายได้สุทธิต่ำ และประสบกับปัญหาหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งสวนทางกับความพยายามของภาครัฐและงบประมาณที่ได้ทุ่มลงไปในภาคเกษตรในทุกปี ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยเข้มแข็ง ปรับตัว และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลาง การเปลี่ยนแปลงในหลายมิติของโลกที่จะส่งผลโดยตรงต่อภาคเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

               หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ (Core Value Chain) ได้แก่ 1) ภาคการค้าและการลงทุน 2) ภาคท่องเที่ยวและบริการ และ 3) ภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งการขับเคลื่อนภาคเกษตรและอาหารที่ผ่านมา ได้มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรผ่านแนวคิดการทำเกษตรมูลค่าสูง และทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาและแก้ไขปัญหาในหลายด้าน โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) พร้อมทั้ง ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคเกษตรสู่การมีรายได้ที่มั่นคง โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจน สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร เป็นต้น

               โดย การขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรผ่านแนวคิดการทำเกษตรมูลค่าสูง ในปี 2564-2565 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณาการทำงานร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตร คณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) รวมทั้ง ได้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการทำงานกับส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนการสร้างเกษตรมูลค่าสูงระดับพื้นที่ (Area-Based) ซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายใน 7 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี จันทบุรี เลย ลำปาง สกลนคร ขอนแก่น และสงขลา พร้อมทั้ง ได้ร่วมคัดเลือก Product Champaign สินค้าเกษตรมูลค่าสูงแต่ละจังหวัด เพื่อนำมาสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการสร้างความร่วมมือในการจะยกระดับเกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมด้านการตลาด ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศเกิดผลสำเร็จอย่างแท้จริง

               อย่างไรก็ดี เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ ขยายผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร จึงได้ดำเนินการต่อยอดขยายแนวคิดของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูงระดับพื้นที่ (Area-Based) ระยะที่ 2 ซึ่งได้ประสานความร่วมมือกับหอการค้าจังหวัด และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 192 กลุ่ม อยู่ในพื้นที่ 59 จังหวัด โดยทำการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อมมาร่วมสร้างเกษตรมูลค่าสูงเพิ่มเติม 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ อุบลราชธานี และพัทลุง พร้อมทั้ง การประสานความร่วมมือในระดับพื้นที่จังหวัด ในระดับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ สภาเกษตรกรจังหวัด สมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย และห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) อาทิ ท็อปส์ ซีพี ออลล์ แม็คโคร โลตัส ฯลฯ เพื่อเชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการ ตลอดจน ยกระดับภาคการผลิตและการตลาดในพื้นที่ สนับสนุนให้ภาคการเกษตรเติบโตอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการสร้างรายได้สู่ชุมชนเกษตรไทย ต่อไป

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

 

ข่าวอื่นๆ