SMART to Know: โอนเงินบ่อย เป็นอะไรไหม

 

        ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน การโอนเงินผ่านระบบออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสินค้าและบริการ การโอนเงินระหว่างบุคคล หรือการทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การใช้บริการดังกล่าวมีทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในด้านกฎหมายและความปลอดภัย

 

สะดวกดี แต่ก็มีข้อควรระวัง

          ข้อดีของการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์นั้นมีหลายอย่าง ทั้งในเรื่องความสะดวกสบายและตวามรวดเร็ว ซึ่งผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่และทุกเวลา อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบและจัดการบัญชีได้ง่าย เพราะแอปพลิเคชันธนาคารส่วนใหญ่จะอนุญาตให้ผู้ใช้ตรวจสอบยอดเงิน ค้นหาประวัติการทำธุรกรรม และจัดการบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          แม้ว่าจะมีข้อดีอยู่หลายอย่าง แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน เช่น ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล การทำธุรกรรมออนไลน์อาจเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูล หากระบบรักษาความปลอดภัยไม่เพียงพอ หรือผู้ใช้งานไม่ระมัดระวังในการปกป้องข้อมูลส่วนตัว เช่น การใช้รหัสผ่านที่คาดเดาได้ง่าย หรือการเข้าสู่ระบบผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนั้น อาจจะมีความผิดพลาดในการทำธุรกรรม เช่น การโอนเงินผิดบัญชี หรือผิดจำนวน หากผู้ใช้งานไม่ตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนยืนยันการทำธุรกรรม รวมถึงปัญหาในเรื่องการควบคุมการใช้จ่าย เพราะความสะดวกสบายในการโอนเงินออนไลน์ อาจทำให้ผู้ใช้งานใช้จ่ายเกินความจำเป็น


ปิดความเสี่ยงการโอนเงินออนไลน์

•    รักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยใช้รหัสผ่านที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบผ่านเครือข่ายสาธารณะที่ไม่ปลอดภัย และไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินแก่ผู้อื่น

•    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนทำธุรกรรม ก่อนยืนยันการโอนเงิน ควรตรวจสอบชื่อและหมายเลขบัญชีของผู้รับให้ถูกต้อง รวมถึงจำนวนเงินที่ต้องการโอน

•    ติดตามและตรวจสอบบัญชีอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจสอบประวัติการทำธุรกรรมและยอดเงินในบัญชี หากพบความผิดปกติควรติดต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องทันที

•    อัปเดตซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน ควรอัปเดตแอปพลิเคชันธนาคาร และระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ที่ใช้ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดเสมอ เพื่อปิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย


โอนเงินเข้าออกบ่อยเป็นอะไรไหม

          การโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายหลายฉบับ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่น
•    พระราชกำหนดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 กฎหมายนี้ให้อำนาจธนาคารในการระงับการทำธุรกรรม ของบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทันทีที่ผู้เสียหายแจ้งธนาคาร และผู้เสียหายต้องแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง นอกจากนี้ การเปิดหรือใช้ "บัญชีม้า" เพื่อกระทำความผิดถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินสามแสนบาท

•    พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 กฎหมายนี้รับรองความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจไม่ครอบคลุมเพียงพอ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

•    กฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ (E-Payment) ที่มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2562 กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงิน ต้องรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมตามเงื่อนไขที่กำหนดแก่กรมสรรพากร

          การโอนเงินเข้าออกบัญชีบ่อย ๆ นั้น จริง ๆ แล้วไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่หากทำบ่อยเกินไป มีการโอนเงินเข้าออกบัญชีจำนวนมาก และมีมูลค่าสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ธนาคารจะต้องรายงานข้อมูลให้กรมสรรพากรทราบ และหากพฤติกรรมการทำธุรกรรมผิดปกติ เช่น การโอนเงินไปมาระหว่างบัญชีหลาย ๆ บัญชีบ่อยครั้ง กรมสรรพากรอาจจะสงสัยว่าเรามีการฟอกเงินหรือทำผิดกฎหมายได้ ซึ่งจำนวนการโอนเงินที่กำหนดไว้มีดังนี้ 

  • ฝากเงินหรือรับเงินด้วยการโอน 3,000 ครั้งต่อปีต่อหนึ่งธนาคาร อาจจำเป็นต้องชี้แจงที่มาของเงิน
  • ฝากหรือรับโอนเข้าบัญชี รวมทุกบัญชีใน 1 ธนาคาร 400 ครั้งต่อปี และมียอดเงินรับรวม 2,000,000 บาทต่อปี ธนาคารจะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร

เมื่อถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบต้องทำอย่างไร

          เมื่อถูกกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบไม่ต้องตกใจ ให้เราควรเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เพื่ออำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่และเพื่อป้องกันเอกสารตกหล่นจนมีปัญหาตามมาได้ ซึ่งเอกสารที่ควรเตรียมโดยทั่วไปจะมีดังนี้

  • บัตรประชาชน ใช้ในการยืนยันตัวตน
  • หนังสือแจ้งการตรวจสอบ หนังสือที่กรมสรรพากรส่งมาแจ้งรายละเอียดการตรวจสอบ
  • เอกสารแสดงรายได้ หนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย 50 ทวิ และเอกสารใบเสร็จรับเงินค่าบริการต่าง ๆ เช่น ค่าเช่า ค่าดอกเบี้ย เป็นต้น
  • เอกสารการซื้อขาย หากธุรกิจมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ
  • สมุดบัญชีธนาคาร เพื่อแสดงรายการเงินเข้าออก
  • เอกสารแสดงค่าใช้จ่าย ใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ เอกสารลดหย่อนภาษี เช่น ใบเสร็จค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเล่าเรียน
  • เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย ทะเบียนพาหนะ

ค้าขายออนไลน์ อย่าลืมเสียภาษี

          เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีที่จะต้องเสียในแต่ละปีได้ เพราะนอกจากจะเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะ อย่างไรก็ตาม เราสามารถลดหย่อนภาษีที่ต้องจ่ายอย่างถูกกฎหมายด้วยวิธีการต่าง ๆ แทน อาทิ การลงทุนในเครื่องมือลดหย่อนภาษี เช่น กองทุน SSF, RMF และประกันชีวิต ที่นำมาเป็นส่วนลดภาษีที่ต้องชำระได้ หรือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกทางหนึ่ง หากเรามีรายได้หลายช่องทาง หรือมีธุรกิจส่วนตัว ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เพื่อวางแผนการเสียภาษีให้เหมาะสมกับสถานการณ์

          สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • หลีกเลี่ยงการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การไม่ยื่นภาษีถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ซึ่งอาจถูกปรับย้อนหลังเป็นเงินจำนวนมากได้
  • แจ้งข้อมูลเท็จ การให้ข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีเป็นความผิดทางอาญา
  • ซ่อนรายได้ การไม่รายงานรายได้ทั้งหมดจะถูกนับเป็นการทำผิดกฎหมาย

 

          การโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ทุกวันเป็นเรื่องปกติของคนส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้เงินเข้าออกบัญชีบ่อย ๆ อาจนำมาซึ่งปัญหาที่คุณไม่คาดคิดขึ้นได้ ดังนั้น การโอนเงินอย่างมีระเบียบและวางแผนอย่างรอบคอบจะสามารถช่วยลดค่าธรรมเนียมที่ไม่จำเป็น และลดปัญหาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านกฎหมายได้ นอกจากนี้ การรู้จักการจัดการธุรกรรมของตนเองจะช่วยให้คุณสามารถปกป้องทรัพย์สินของตัวเองให้ปลอดภัยได้อีกด้วย


อ้างอิงบทความจาก https://www.peakaccount.com/blog/tax/personal-income-tax/transfer-money-frequently

ข่าวอื่นๆ