ส่องความเชื่อมั่นเอกชนไทย 5 ภาค ผ่าน TCC CONFIDENCE INDEX ประจำเดือน มีนาคม 2568

เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย TCC CONFIDENCE INDEX ประจำเดือน มีนาคม 2568
โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 50.5 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 48.9 อีกทั้งความเชื่อมั่นในหลายรายการลดลงต่ำกว่า 50 (ค่ากลาง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ 56.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลมาตรการการขึ้นภาษีของทรัมป์ 2.0 อีกทั้งหลายหลายภูมิภาคก็มีความเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ ประกอบกับยังมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจโลกการค้าจะเป็นไปในทิศทางใด ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทย และทั่วโลกปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยสนับสนุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนี้

  • รัฐบาลมีความคืบหน้าที่จะดำเนินมาตรการโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส3 ในกลุ่มอายุ 16-20 ปี โดยคาดว่าวงเงินจะอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นให้กับผู้ที่ได้รับเงินจากโครงการฯ
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว
  • การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. 68 ขยายตัวร้อยละ 14.0 มูลค่าอยู่ที่ 26,707.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 มีมูลค่าอยู่ที่ 24,718.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยกลับมาเกินดุลการค้าอยู่ที่ 1,988 ล้านดอลลาร์
  • ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E 10 ) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 1.20 บาทต่อลิตรจากเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 33.78 และ 34.15 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 0.50 บาทต่อลิตรจากเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 32.44 บาทต่อลิตรณ สิ้นเดือน มี.ค. 68
  • เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ ทำให้อุปสงค์สินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในกลุ่มอาหารสด อาหารแห้ง อาหารแปรรูป และผลไม้

ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสำคัญ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

  • ให้การสนับสนุน SMEs ผ่านมาตรการทางการเงิน เช่น การพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการเพิ่มวงเงินกู้
  • การบริหารจัดการน้ำเพื่อจัดสรรให้เพียงพอและเหมาะสมกับภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค และรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยเฉพาะการลดขั้นตอนและกฎระเบียบที่ซับซ้อน
  • แผนการรองรับต่ออุปสรรคของสินค้าไทยที่ประเทศคู่ค้ากำหนดขึ้นมาเพื่อจำกัดขีดความสามารถการส่งออก
  • การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนด้านธุรกิจ เช่น การพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ

 

รับฟังการถ่ายทอดสดย้อนหลัง https://www.facebook.com/utccnews/videos/1111817170703645?locale=th_TH

 

 

ที่มา : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เรียบเรียงและจัดทำโดย ฝ่ายนโยบายยุทธศาสตร์ หอการค้าไทย

 

ข่าวอื่นๆ