ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 มีศูนย์กลางในเมียนมาส่งผลกระทบต่อไทยเนื่องจากจุดศูนย์กลางตื้น (10 กม.) และชั้นดินอ่อนในกรุงเทพฯ ทำให้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยในกรณีฐาน อยู่ที่ 15,747.8 ล้านบาท (0.08% ของ GDP) แบ่งเป็นผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน 3,098.6 ล้านบาท (0.02%) และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12,649.2 ล้านบาท (0.06%) โดยในกรณีแย่กว่าและดีกว่า ผลกระทบรวมอาจจะอยู่ในช่วง 10,637.6 - 22,072.4 ล้านบาท (0.06-0.12% ของ GDP) ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรง โดยนักท่องเที่ยวขอเช็กเอาต์ล่วงหน้า 8-10% และรายได้ธุรกิจโรงแรมลดลง 10-15% การจองที่นั่งสายการบินลดลง 40-60% โดยเฉพาะตลาดจีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย ด้านผลกระทบต่อการบริโภคเป็นเพียงระยะสั้นมาก เนื่องจากรายได้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ ธุรกิจยังดาเนินงานได้ต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอยู่ในระยะสั้นถึงปานกลาง ขึ้นอยู่กับการฟื้นฟูความเชื่อมั่น
มาตรการรับมือควรแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1) ระยะเร่งด่วน: จัดตั้งศูนย์ประสานงานฉุกเฉินและตรวจสอบความปลอดภัยอาคารในพื้นที่เสี่ยง ดำเนินการสื่อสารเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ Aftershock และมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในห่วงโซ่การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง
2) ระยะสั้น: จัดทำแผนการตลาดฟื้นฟูภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ปรับปรุงระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวและพัฒนาแอปพลิเคชันข้อมูลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว และจัดฝึกอบรมการจัดการภาวะวิกฤตให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว และฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติในแหล่งท่องเที่ยวหลัก
3) ระยะยาว: ส่งเสริมระบบประกันภัยแผ่นดินไหวที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้สำหรับธุรกิจและที่อยู่อาศัย เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งทบทวนและเข้มงวดมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารสูงในพื้นที่ชั้นดินอ่อน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้แรงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้นในกรุงเทพฯ
พฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชน
พฤติกรรมการใช้จ่ายหลังเกิดแผ่นดินไหว
รับฟังการถ่ายทอดสดย้อนหลัง https://www.facebook.com/utccnews/videos/1016054307114997?locale=th_TH
ดาวน์โหลดเอกสาร chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://cebf.utcc.ac.th/upload/report_file/file_th_142d03y2025.pdf
ที่มา : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เรียบเรียงและจัดทำโดย ฝ่ายนโยบายยุทธศาสตร์ หอการค้าไทย