กกร. ย้ำรัฐ-เอกชน เร่งสร้างความเชื่อมั่นไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบด้าน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการประจำเดือนเมษายน 2568 โดยมีนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. เป็นประธานในการประชุม  ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประะชุม โดยที่ประชุม กกร. ได้ประเมินเศรษฐกิจ ดังนี้

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ที่ประชุมกกร.ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่าขณะนี้เป็น Moment of opportunity ในการสร้างความเชื่อมั่นท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบด้าน จากทั้งเรื่องของสงความการค้า และเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยร่วมกันบูรณาการความร่วมมือ ทั้งในส่วนกระบวนงานของส่วนราชการและองค์กรภาคเอกชนที่ควรมีการปฏิรูป โดยให้ความสำคัญกับการมีข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ประกอบการพิจารณาแผนการรับมือและการจัดการกับปัญหา ทั้งนี้ เห็นว่า ควรใช้โอกาสที่มีการสำรวจความปลอดภัยของอาคารและสิ่งปลูกสร้างจากเหตุแผ่นดินไหว  เปิดเผยข้อมูลการสำรวจอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศ 

มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยกระดับขึ้น สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง

นโยบายสำคัญที่เตรียมจะประกาศใช้  คือ ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และภาษีศุลกากรเฉพาะสินค้า (Specific Tariffs) ซึ่งคาดว่าจะกระทบประเทศคู่ค้าและสินค้าเป็นวงกว้าง ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้กับประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้จะขึ้นอยู่กับส่วนต่างระหว่างภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสหรัฐฯ กับอัตราที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ

จับตามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กระทบส่งออกไทย

โดยไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนต่างอัตราภาษีศุลกากรและการเกินดุลกับสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี ของไทย อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากนโยบาย Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมผ่านคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง นอกจากนี้ ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยอาจรุนแรงขึ้น รวมถึงสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไทยอาจต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังการเจรจาการค้า

ศรษฐกิจไทยเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้จีดีพีปี 2568 ต่ำกว่าที่เคยคาด

จากกรอบประมาณการเดิมอยู่ในช่วง 2.4-2.9% ซึ่งได้คำนึงถึงผลกระทบบางส่วนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ไว้แล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนถึงขนาดและขอบเขตของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในคืนวันนี้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอีกราว 0.2-0.6%   นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังอาจถูกกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวได้ช้าและเหตุการณ์แผ่นดินไหว ฉะนั้นไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเร่งดำเนินการผ่าน

1) นโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

2) นโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 ของ กกร.

%YoY

ปี 2568

(ณ ก.พ. 68)

ปี 2568

(ณ มี.ค. 68)

ปี 2568

(ณ เม.ย. 68)

GDP 2.4 ถึง 2.9 2.4 ถึง 2.9 2.4 ถึง 2.9
ส่งออก 1.5 ถึง 2.5 1.5 ถึง 2.5 1.5 ถึง 2.5
เงินเฟ้อ 0.8 ถึง 1.2 0.8 ถึง 1.2 0.8 ถึง 1.2

 

ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อนโยบายการปรับโครงการสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas)

ที่มีแนวคิดจะผลักภาระต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติไปให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การปรับโครงสร้างราคาพลังงานจึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล ตลอดจนพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโครงสร้างพลังงาน ไม่ใช่การโยกตัวเลขหรือผลักภาระต้นทุนพลังงานไปให้อีกภาคส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ขอให้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนกับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง 

 

 

เรียบเรียงและจัดทำโดย ฝ่ายนโยบายยุทธศาสตร์ หอการค้าไทย

ติดตามหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ทุกช่องทางได้ที่ :
 https://linktr.ee/thaichamber

ข่าวอื่นๆ