เมื่อพูดถึงธุรกิจครอบครัว หนึ่งในประเด็นที่ท้าทายที่สุดคือการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับสมาชิกภายในครอบครัวอย่างเป็นธรรม คำว่า “ความเป็นธรรม” และ “ความเท่าเทียม” อาจดูคล้ายกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองแนวคิดนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของค่าตอบแทนและบทบาทของสมาชิกในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวจากแคนาดา ได้ร่วมกันถกถึงบทบาทของทายาทในธุรกิจครอบครัว และ “อะไร” ที่คนเหล่านี้สมควรจะได้รับหรือไม่ได้รับ เพราะเรามักจะสับสน และรวมสองเรื่องนี้เข้าด้วยกันอยู่เสมอ นั่นคือ “ความเป็นเจ้าของและการบริหาร” กับ “บทบาทในธุรกิจ” พร้อมอธิบายว่า ค่าตอบแทนภายในธุรกิจครอบครัว สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่:
1. เงินเดือนสำหรับงานที่ทำ สมาชิกครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจควรได้รับค่าตอบแทน ตามหน้าที่และความสามารถของตน ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาเป็นสมาชิกในครอบครัว
2. รางวัลตามผลงาน หากสมาชิกในครอบครัวทำผลงานได้ดีเป็นพิเศษ อาจมีโบนัสหรือรางวัลพิเศษให้เป็นแรงจูงใจ และเป็นตัวอย่างให้กับสมาชิกหรือพนักงาน
3. ผลตอบแทนจากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของธุรกิจครอบครัว ซึ่งอาจเป็นรายได้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง
4. สิทธิพิเศษเพิ่มเติม เช่น การใช้บ้านพักของครอบครัว หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่สมาชิกในครอบครัวได้รับ
จากหลักการข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความเป็นธรรมไม่ได้หมายถึงการให้ทุกคนได้รับเท่ากัน แต่เป็นการให้แต่ละคนได้รับสิ่งที่เหมาะสมกับบทบาทและความรับผิดชอบของตน ดังนั้น ความยุติธรรมจึงไม่ใช่ความเท่าเทียม ทว่า ความเท่าเทียมเป็นความยุติธรรมแบบหนึ่ง” (Fair is not equal—equal is one version of fair.)
Ambreen Bhaloo ผู้เชี่ยวชาญด้านการ Coaching สำหรับธุรกิจครอบครัว อ้างอิงแนวคิด “โมเดล 3 วงกลม” ของ Harvard Business School ซึ่งแบ่งองค์ประกอบของธุรกิจครอบครัว ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่:
• ครอบครัว – สมาชิกที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดหรือการแต่งงาน
• ธุรกิจ – องค์กรที่ดำเนินกิจการ สร้างรายได้ และจัดการผลตอบแทน
• ความเป็นเจ้าของ – ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ
โมเดลนี้ช่วยให้สามารถแยกบทบาทของสมาชิกแต่ละคนได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ลูกคนหนึ่งอาจเป็นพนักงานที่ได้รับเงินเดือนจากธุรกิจ ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผล แม้ว่าทั้งสองจะเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน แต่ก็ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
Chris Reichert ประธานบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว Reichert Family Enterprise Advisors ได้อ้างอิงแนวคิด “เต็นท์ใหญ่” (Big Tent) ที่พัฒนาโดย Justin B. Craig ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจครอบครัวจาก Kellogg School of Management ว่าเป็นวิธีการมองถึงวิธีการทั้งหมดที่สมาชิกครอบครัว สามารถมีส่วนร่วมในขณะที่ยังคงอยู่ภายในเต็นท์ของธุรกิจครอบครัว โดยจะเน้นให้สมาชิกสามารถมีส่วนร่วมในธุรกิจได้หลากหลายรูปแบบ เช่น:
• กำหนดให้คู่สมรสทุกคนมีส่วนร่วมในคณะกรรมการด้านการกุศล
• แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดูแลและบำรุงรักษาทรัพย์สิน เช่น คอลเลกชันงานศิลปะ ฯลฯ ที่ตนเองเป็นเจ้าของ
• จัดตั้งโปรแกรม Intrapreneurship เพื่อสร้าง “ผู้ประกอบการในองค์กร” ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาโครงการธุรกิจขนาดเล็กที่สมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ดำเนินการ โดยบางครั้งก็อาจเป็นการสนับสนุนทางการเงิน และบางครั้งก็ช่วยเหลือผ่านการให้คำปรึกษาจากสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้ Intrapreneurship ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาผู้นำรุ่นถัดไป เนื่องจากเป็นการเปิดเวทีทดสอบที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และยังอาจเป็นช่องทางให้สมาชิกรุ่นใหม่ได้เปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจครอบครัวที่อาจถูกมองข้ามไป
• การลงทุนในธุรกิจที่สมาชิกในครอบครัวมีความสนใจ
แนวคิดนี้ช่วยให้สมาชิกครอบครัวที่มีทักษะและความสนใจที่แตกต่างกัน สามารถมีบทบาทในธุรกิจได้อย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันในตำแหน่งเดียวกัน หรือได้รับผลตอบแทนแบบเดียวกัน นอกจากนั้น ควรมีการอัปเดตผลที่เกิดขึ้นเป็นรายไตรมาสในที่ประชุมครอบครัว ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ครอบครัวทั้งหมดมีโอกาสได้เฉลิมฉลองความสำเร็จร่วมกัน หรือเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการในช่วงที่มีอุปสรรค เป็นพลังขับเคลื่อนให้กับธุรกิจครอบครัวเติบโตได้ต่อไป
สำหรับธุรกิจครอบครัวแล้ว ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับการให้ทุกคนได้รับเท่ากัน แต่เป็นการทำให้ทุกคนรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยแนวทางที่ดีควรคำนึงถึง:
• บทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละคน
• ผลงานและความสามารถของสมาชิกในครอบครัว
• การจัดการผลประโยชน์ให้สมดุล ระหว่างครอบครัว ธุรกิจ และความเป็นเจ้าของ
หากสามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ดี ธุรกิจครอบครัวจะสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และเติบโตไปได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
ยังมีเนื้อหาสาระด้านการบริหารธุรกิจครอบครัวอีกหลากหลายมิติ ซึ่งสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้ ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครการอบรบหลักสูตร Family Business Thailand รุ่นที่ 4 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2568 ณ โรงแรมแก้วสมุย รีสอร์ท จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะมีการบรรยายเรื่องกลยุทธ์การบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ การพัฒนาธรรมนูญครอบครัวให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเคล็ดลับในการพัฒนาแบรนด์ “ไก่ย่างจีระพันธ์” ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่: https://bit.ly/4khedWC ภายในวันที่ 7 เมษายนนี้ ที่สำคัญ งานนี้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ จำกัดเพียง 100 ท่านเท่านั้น
อ้างอิงเนื้อหาจาก https://www.famz.co.th/page/article_detail/?da_id=409