ส่องความเชื่อมั่นเอกชนไทย 5 ภาค ผ่าน TCC CONFIDENCE INDEX ประจำเดือน มกราคม 2568
![](https://www.thaichamber.org/public/upload/article/images/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%205%20%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%20%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1-02.jpg)
เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย TCC CONFIDENCE INDEX ประจำเดือน มกราคม 2568
โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ระดับ 49.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 48.7 ในเดือนธ.ค. 67 โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ม.ค. 68 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. 0.3 จุด บ่งบอกในเบื้องต้นว่า ดัชนีฯ เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แม้ค่าดัชนีฯ จะยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ก็ตาม เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจในหลายจังหวัด มองว่าการบริโภคดีขึ้นเกือบทุกพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งมาตรการ Easy E-Receipt, การแจกเงิน 10,000 บาทในเฟส 2 ที่ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ประกอบกับมีเม็ดเงินจากการลงทุนทางตรงของต่างประเทศ (FDI) ที่เริ่มเข้ามา ด้านการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ที่มีสัญญาณดีขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรหลายรายการยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยสนับสนุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนี้
- การกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 และเฟส 3 รวมถึงมาตรการ Easy E Receipt ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มการเติบโต
- การลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัวตามแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เติบโต โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว รวมการขยายระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
- การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค. 67 ขยายตัวร้อยละ 8.68 มูลค่าอยู่ที่ 24,765.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.89 มีมูลค่าอยู่ที่ 24,776.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 10.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E 10 ) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 0.5 0 บาทต่อลิตรจากเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 35.38 และ 35.75 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือน ม.ค. 68 ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสำคัญ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
![](https://www.thaichamber.org/public/upload/article/images/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%205%20%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%20%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1-03.jpg)
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
- มาตรการควบคุมราคาต้นทุนปัจจัยการผลิต ที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิต
- สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ยังมีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควรมีมาตรการลดภาระต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน การสนับสนุนด้านเงินทุนและหนี้สินเพื่อรักษาสภาพคล่องธุรกิจ
- มาตรการที่สร้างแรงจูงใจในการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ในการเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว
- แนวทางการหาเครือข่ายหรือกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะธุรกิจใกล้เคียงกันเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ
- มาตรการช่วยเหลือภาระหนี้สินและเงินทุน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อาจเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ
- รักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุลเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
รับฟังการถ่ายทอดสดย้อนหลัง https://www.facebook.com/utccnews/videos/8966064403490751?locale=th_TH
ดาวน์โหลดเอกสาร https://cebf.utcc.ac.th/upload/index_file/file_th_655d13y2025.pdf
ที่มา : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เรียบเรียงและจัดทำโดย ฝ่ายนโยบายยุทธศาสตร์ หอการค้าไทย