เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 หอการค้าไทยร่วมกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดงานแถลงข่าว "ความคืบหน้าการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ" ณ ห้อง Activity Hall อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ หอการค้าไทย
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้นายจ้างดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยให้นายทะเบียนออกหลักฐานการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าว เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566
กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจยังคงปรากฏอยู่ เนื่องจากคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 คน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ ในขณะที่นายจ้าง/สถานประกอบการ มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด หรือเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง กระทรวงแรงงานจึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวจากนโยบายการเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ถึงแม้จะกำลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการส่งออกสินค้าของไทย แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตจากรายได้ปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 2.38 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจเอกชนยังคงต้องอาศัยกำลังแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และผู้ประกอบการ SMEs ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการและร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม ที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการทั่วประเทศ ประกอบกับให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจที่มีความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในปี 2565-2566 คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงแรงงานเสนอผ่อนผันให้ภาคเอกชนสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 5 ครั้ง ได้แก่
1) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565
2) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566
3) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566
4) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 (กลุ่มความร่วมมือด้านแรงงานMOU)
5) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 (กลุ่มความร่วมมือด้านแรงงานMOU) เป็นต้น
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังได้รับข้อร้องเรียนถึงประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสมาชิกผู้ประกอบการ สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน อย่างใกล้ชิด โดยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาและมุ่งเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 จะช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว MOU ที่ไม่สามารถจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและการตรวจลงตราได้ทัน
ในนามหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ท่านรองนายกรัฐมนตรี (ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม) ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คุณสุชาติ ชมกลิ่น) ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน
นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล กรรมการ หอการค้าไทย และรองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอนั้น มีความสำคัญที่จะช่วยให้พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการส่งออก และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ได้กลับมาขับเคลื่อนศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตนได้อีกครั้ง
#Thaichamber
#หอการค้าไทย
#สร้างความเชื่อมั่น
#ร่วมกันสร้างสรรค์
#ช่วยกันผลักดัน
#connectthedots
-------------------------------------------
ติดตามข้อมูลสาระสำคัญต่างๆ ได้ทาง
Website : www.thaichamber.org
Line@ : https://bit.ly/2ZiAoCc
Instragram : https://bit.ly/2v5TYE7
Facebook : https://bit.ly/2V388o8
YouTube Channel : https://bit.ly/3zp4U1P