เสวนาเรื่อง Sustainable Business Practices กลยุทธ์สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน

สรุปสาระสำคัญการเสวนา 
เรื่อง “Sustainable Business Practices กลยุทธ์สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน”
งานมหกรรมรวมพลัง SME ไทย (Thailand SME Synergy Expo 2024)
วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

คุณกรด  โรจนเสถียร กรรมการปฏิคมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาประธานบริหารชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพของชีวาศรม ตลอดระยะเวลา 30 ปี คือการคำนึงถึงสุขภาวะที่ดี และจำเป็นต้องใช้หลายส่วนเข้ามาเชื่อมโยงกัน ได้แก่ กาย สิ่งแวดล้อม สังคม และปลายทางคือกำไร ซึ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ “ความยั่งยืน” 

        การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในองค์กร ควรมีการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนเป็นวัฒนธรรมขององค์กรให้ได้ ผ่าน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1)การป้องกันสิ่งแวดล้อม 2) ความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในชุมชนและสังคม 3) ความเท่าเทียมกันในสังคม 

“การนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้ จำเป็นต้องรู้จักตัวตนของเราก่อน” ซึ่งตัวตนในการบริหารความยั่งยืนของชีวาศรมมี 6 มิติ ได้แก่

  1. การบริหารจัดการพลังงาน ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ซึ่งชีวาศรมได้มีการนำโซลาร์เซลล์เข้ามาช่วยเสริมในการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และตั้งเป้าที่จะผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์ให้ได้ 50,000 kWh หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 3% เป็น 10% ภายในปี 2025
  2. การบริหารจัดการน้ำ ให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารจัดการและการบำบัดน้ำเสีย โดยน้ำที่ถูกบำบัดทั้งหมดในรีสอร์ท จะนำมาหมุนเวียนปล่อยลงสู่ทะเลสาบภายในรีสอร์ท เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสถานที่ภายในรีสอร์ท
  3. การบริหารทรัพยากรภายในองค์กร เช่น การสร้างโรงงานบรรจุน้ำเอง ลดการใช้พลาสติกเปลี่ยนเป็นการใช้ทรัพยากรที่เป็นแก้วและกระดาษ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพื้นที่ปราศจากพลาสติกให้เป็นศูนย์ 
  4. การบริหารจัดการความยั่งยืน ชีวาศรมมีการแยกขยะที่ชัดเจน และสามารถกำจัดขยะที่เกิดจากพืชสวนจำนวนมากในพื้นที่รีสอร์ท คิดเป็น 50% ของขยะทั้งหมด ด้วยกระบวนการวิธีฝังกลบ ตั้งแต่ปี 2021-2023 สามารถจัดการขยะไปได้ถึง 38.5 ตัน และยังตั้งเป้าลดขยะที่เกิดจากพืชสวน ให้เหลือ 20% ในอนาคต
  5. ความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม ผ่านการขับเคลื่อนโครงการปลูกต้นโกงกางในพื้นที่ อ.หัวหิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของชีวาศรม โดยปัจจุบันปลูกต้นโกงกางไปแล้ว 11,000 ต้น และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนที่มาพักชีวาศรมได้มีส่วนร่วมในการช่วยรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ และการตั้งกองทุนให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนในการสนับสนุนการดูแลพื้นที่โกงกาง รวมทั้งมีการจัดกิจกรรม Global Wellness Day ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ทำแปลงสาธิตที่ได้รับมาตรฐาน IFORM สามารถผลิตผัก ผลไม้ และ พืชไร่ในพื้นที่ของ อ.หัวหิน ตลอดจนการขยายองค์ความรู้ไปยังชุมชนและโรงเรียนใกล้เคียง เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำเรื่องของการปลูกผักผลไม้อินทรีย์ที่ช่วยให้คนในพื้นที่และโรงเรียนสามารถลดค่าใช้จ่าย และสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้น
  6. การสร้างการยอมรับถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน มีการทำเรื่องของ Tracking และ Monitor ผ่าน Platform พลังงาน โดยชีวาศรมเป็นหนึ่งใน 14,000 บริษัทที่อยู่ภายใต้ UNGC และตั้งเป้าว่าภายในปี 2025 จะมีการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 10% ทำให้ปัจจุบันชีวาศรมได้รับการยอมรับจากมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Green และกลายเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศ

ดร.จุฑามาศ  วิศาลสิงห์ กรรมการคณะกรรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หอการค้าไทย กล่าวว่า การจัดการความอย่างยั่งยืนไม่ควรแยกออกจากการบริหารองค์กร ควรผนวกรวมกันให้เป็นหนึ่งเดียว และการจัดการความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกระทบต่อทุกคน ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนได้ นอกจากนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวกับอาหารยังถือเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้น การจัดการความอย่างยั่งยืนในการทำธุรกิจท่องเที่ยวและอาหารจึงต้องทำให้สนุก นำไปสู่การจัดตั้งเครือข่ายวัฒนธรรมอาหารของประเทศไทย ส่งเสริมการจัดการอย่างยั่งยืนผ่านอาหาร “Thailand Gastronomy Network” เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการท่องเที่ยว 4 เสาหลัก ได้แก่

  1. Farming System: ระบบการจัดการฟาร์มที่เน้นเรื่องการจัดการแหล่งวัตถุดิบและอาหารที่ดี จากแหล่งกำเนิดอาหาร 
  2. Story of Food: การนำเสนอความเป็นมาและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างสนุก ตลอดจนคุณค่าของเรื่องราวเบื้องหลังที่ทำให้อาหารแต่ละจานโดดเด่นและเป็นที่จดจำ 
  3. Creative Industry: อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะการนำเสนออาหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนวิถีชีวิต และรสนิยมตามยุคสมัย 
  4. Sustainable Tourism: ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนรากฐานของการท่องเที่ยว อนุรักษ์ ส่งเสริมเรื่องราวท้องถิ่น ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ

        นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการทำ Bio–Mapping ให้ผู้ประกอบการช่วยกันเสนอวัตถุดิบของดีในแต่ละพื้นที่ลงในแผนที่ของจังหวัด โดยได้นำร่องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสงขลา เพื่อแสดงให้เห็นว่าการจัดการอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากความสนุกและผู้ประกอบการที่สามารถเชื่อมโยงวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่ได้ เพราะทุกพื้นที่มีเสน่ห์เป็นของตนเอง ชวนให้นักท่องเที่ยวเข้าใจระบบนิเวศและเข้าใจส่วนหนึ่งในการจัดการอย่างยั่งยืน ดังนั้น การใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นจะช่วยลดการใช้จ่ายพลังงาน และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการลดคาร์บอนในพื้นที่ได้

คุณยุทธนา  เจียมตระการ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นไปที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และระบบต่าง ๆ ให้เกิดขยะน้อยที่สุด ทรัพยากรสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบไปด้วย 3 หลักการ ดังนี้

  1. ลด (Reduce): ลดปริมาณทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ในการผลิต
  2. ใช้ซ้ำ (Reuse): ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง
  3. รีไซเคิล (Recycle): แปรรูปวัสดุที่ใช้แล้วให้กลับมาใช้ใหม่

        ประโยชน์ของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในภาคธุรกิจ สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้วัสดุรีไซเคิลและลดปริมาณขยะได้จำนวนมาก อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงาน นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมและลูกค้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในภาคธุรกิจก็ยังมีข้อจำกัดที่พึงระวัง เช่น ต้นทุนการลงทุนในเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ การจัดการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีความซับซ้อน และกฎระเบียบบางอย่างอาจเป็นอุปสรรคต่อการนำเศรษฐกิจหมุนเวียน
ไปใช้ เป็นต้น

“ธุรกิจที่สามารถปรับตัวและนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นผู้ชนะในยุคเศรษฐกิจใหม่นี้” คุณยุทธนา กล่าว


.......................................................................................................................................

เรียบเรียงและสรุปโดย : ฝ่ายนโยบายยุทธศาสตร์ หอการค้าไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2567