สรุปเสวนากลไกค้ำประกันเครดิต

สรุปเสวนากลไกค้ำประกันเครดิต

สรุปประเด็นจากงานเสวนา

"กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน"

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานเสวนาเรื่อง "กลไกค้ำประกันเครดิต ตัวช่วยของ SMEs ในการเข้าถึงเงินทุน" เมื่อวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและรับฟังความเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs
คุณรณดล  นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน โดยเน้นถึงปัญหาของ SMEs ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ว่ายังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันหาแนวทางเพื่อพัฒนากลไกที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และตอบโจทย์ของประเทศได้ดีที่สุด

คุณสมชาย  เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ได้สรุปผลการศึกษาของ ธปท. เกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และบทบาทของกลไกค้ำประกันเครดิต ดังนี้

  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทย โดยสินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด 19 ถึงปัจจุบัน (ล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว 5.1%) นอกจากนี้ จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ธปท. พบว่าจากจำนวน SMEs ในระบบทั้งหมด 3.2 ล้านราย มี SMEs ไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจในระบบสถาบันการเงิน
  • SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก สาเหตุจากการมีทุนและความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด ทำให้ผลประกอบการผันผวน การมีข้อมูลประวัติทางการเงินไม่เพียงพอ และไม่มีหลักประกัน รวมทั้งมูลค่าสินเชื่อมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มกับต้นทุนของสถาบันการเงินในการประเมินและติดตามความเสี่ยง จึงต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือให้สินเชื่อด้วยต้นทุนกู้ยืมที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อชดเชยความเสี่ยง
  • ที่ผ่านมา การค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นกลไกสำคัญที่ แบ่งเบาความเสี่ยงของ SMEs ทำให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อ (Portfolio Guarantee Scheme–PGS) ของ บสย. แต่ละโครงการ รวมถึงการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูในช่วงโควิด 19 มีส่วนช่วยให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวได้แม้ในช่วงวิกฤต อย่างไรก็ดี กลไกค้ำประกันในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น

               ขอบเขตการค้ำประกันที่จำกัด โดยครอบคลุมเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์) และบริษัทลูกเท่านั้น
               ข้อมูลและเครื่องมือไม่เพียงพอ ทำให้การประเมินความเสี่ยงของ SMEs แต่ละรายทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีค้ำประกันแบบกลุ่ม (portfolio guarantee) ที่คิดค่าธรรมเนียมจากลูกหนี้เท่ากันทุกรายในแต่ละโครงการ ทำให้ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงกว่าความเสี่ยงของตนเอง
               การค้ำประกันขาดความยืดหยุ่นในการช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่สอดคล้องกับทิศทาง/ยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในช่วงวิกฤต เห็นได้จากในช่วงโควิด 19 ที่ต้องออกพระราชกำหนด (พรก.) เพื่อให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) แก่ SMEs ในการช่วยเหลือเพิ่มเติม

  • กลไกค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ควรตอบโจทย์ทั้งภาครัฐ ผู้ให้กู้ยืม และ SMEs ภายใต้แรงจูงใจที่เหมาะสมร่วมกัน โดยตัวอย่างกลไกค้ำประกันเครดิตที่ประสบความสำเร็จในประเทศที่มี SMEs เป็นแกนหลักคล้ายกับไทย เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน มีลักษณะสำคัญดังนี้

               ไม่จำกัดประเภทผู้ให้กู้ยืม หรือรูปแบบการกู้ยืมที่มีอยู่เฉพาะสินเชื่อ จึงสามารถสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะกับธุรกิจแต่ละกลุ่มมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนธุรกิจตามเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
               มีข้อมูลและแบบจำลองเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต ที่สะท้อนระดับความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย ทำให้กำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมได้ (risk-based pricing)
               มีความยืดหยุ่น สามารถใช้เป็นกลไก/เครื่องมือเชิงนโยบาย ทั้งในภาวะปกติและช่วงวิกฤต
               มีเงินทุน (funding) ที่มีเสถียรภาพ มั่นคง ที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละภาคส่วน อย่างเกาหลีใต้ เงินสมทบจะมาจากทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน และภาคธุรกิจอื่น ๆ ตามความสมัครใจ ทำให้ทั้งรัฐ สถาบันการเงิน และเอกชนต้องร่วมกันประเมินและปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ
               ให้การสนับสนุน SMEs มากกว่าเพียงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่มีบริการครบวงจร ทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ และการบริหารจัดการเงิน เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของ SMEs

นอกจากนี้ ในช่วงการเสวนาระหว่างผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช (ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย) คุณสิทธิกร ดิเรกสุนทร (กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.) คุณชัยยศ ตันพิสุทธิ์ (ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย) คุณสมชัย จิตสุชน (ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย-TDRI) และผู้ดำเนินการเสวนา คุณณชา อนันต์โชติกุล (ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ KKP Research) ได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตให้ตอบโจทย์ SMEs ไทยได้มากขึ้น

คุณแสงชัย  ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงภาพรวมสถานภาพ SMEs ของไทย พร้อมกล่าวถึง 3 มาตรการเร่งด่วนสำหรับการแก้ปัญหา SMEs ได้แก่ มาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ มาตรการยกระดับขีดความสามารถ SMEs และมาตรการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs พบว่า ประมาณ 39% มาจากสถาบันการเงินของรัฐ 14% มาจากธนาคารพาณิชย์ และเกือบ 36% มาจากนอกระบบ โดยระบุว่า 3 ปัญหาหลักในการเข้าถึงแหล่งทุน คือ ขาดหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ การเข้าถึงทุนมีขั้นตอนยุ่งยาก ล่าช้า และการขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งทุน
  • สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ลูกหนี้นอกระบบจำนวนมากมีอายุเกิน 60 ปี
  • หลายฝ่ายต้องมาช่วยกันออกแบบมาตรการเพื่อแก้ปัญหา โดยเสนอว่า ควรมีระบบบ่มเพาะทั้งก่อนและหลังการให้สินเชื่อ เพราะโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำอย่างเดียวไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด ดังนั้น องค์ความรู้อื่นที่จะมีผลต่อธุรกิจจะช่วยเพิ่มโอกาสได้มากขึ้น

คุณชัยยศ  ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จำนวนผู้ประกอบการ SMEs ไม่ได้มีแค่ 3.2 ล้านราย เพราะหากพิจารณาจำนวนผู้ประกอบการในแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า เป็นผู้ประกอบการจากจีนถึง 84% เป็นคนไทย 16% หมายความว่า SMEs ไทยยังมีคู่แข่งที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาอีกจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การแข่งขันยากยิ่งขึ้น
ปัญหาในการสนับสนุน SMEs คือ “ความสม่ำเสมอ” ในบางประเทศมีงบประมาณในการสนับสนุนที่ตั้งไว้ชัดเจนต่อเนื่อง ต่างจากไทยที่ต้องรองบประมาณการค้ำประกันจาก บสย. หากปรับตรงนี้ได้ จะช่วยให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และจะช่วย SMEs ได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังเสนอว่า บสย.ควรทำ Individual Guarantee จากนั้น ผู้ประกอบการค่อยไปเลือกธนาคารตามความต้องการ ซึ่งก็จะเกิดการแข่งขันกันของธนาคาร ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์ ซึ่งแม้ว่า Individual Guarantee อาจใช้งบประมาณเยอะ แต่หากทำได้ จะเป็นการยกระดับ Eco system ให้ดียิ่งขึ้น

คุณสิทธิกร  ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า กว่า 30 ปีของ บสย. สามารถช่วย SMEs ได้ประมาณ 8 แสนราย แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ ส่วนรายที่ปรับตัวแล้ว ก็ต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ตลอด 30 ปี บสย.จะนำมาพิจารณาออกแบบมาตรการช่วยเหลือให้ดียิ่งขึ้น

เป้าหมายของ บสย.จะเน้นที่จำนวนราย ทำอย่างไรให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้โดยใช้การค้ำประกันเข้าช่วยเหลือ สร้างองค์ความรู้ทางการเงิน และเมื่อเกิดความเสียหายก็ต้องอยู่รอดได้ โดยปัจจุบัน การค้ำประกันส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคบริการ (ท่องเที่ยว) การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และเกษตรแปรรูป ซึ่งปีที่ผ่านมา Success rate อยู่ที่ 14% และวางเป้าไว้ที่ 20% อย่างไรก็ตาม ต้องช่วยกันดึงผู้ประกอบการที่เป็นหนี้นอกระบบ เข้าสู่ระบบให้มากขึ้น

นอกจากนั้น บสย.จะใช้เรื่องดิจิทัลเข้ามาทำงานมากขึ้น โดยจะวางระบบการค้ำประกันไว้บนแพลตฟอร์ม มีข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ แล้วให้ธนาคารต่าง ๆ เสนอสินเชื่อพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเลือก ทั้งนี้ บสย.กำลังทำเรื่อง Credit scoring (ตอนนี้มี 4 โมเดล) แล้วก็ดูการเชื่อมโยงมูลอื่น ๆ ที่ไม่มี ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มข้อมูล พร้อมจะขยายไปยังกลุ่ม micro มากขึ้น และไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลด cost ได้เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้ง เน้นไปที่ Segment ที่เป็นยุทธศาสตร์

คุณสมชัย  จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI กล่าวว่า ปัญหาคือ เราไม่รู้จักลูกค้าแบบ Individual ตอนนี้การค้ำประกันดูเป็นแบบ Portfolio จึงไม่สามารถออกแบบ Ecosystem ให้ตอบโจทย์ SMEs ได้ ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขคือ การสร้างข้อมูลรายกิจการที่ครบถ้วน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้มากขึ้น เพิ่มความทันสมัยของผู้ประกอบการ รวมทั้ง การแก้กฎหมายให้ บสย.ขยายไปถึงผู้ให้กู้นอกเหนือจากสถาบันการเงินได้ และเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงิน ทั้งนี้ เสนอให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาใช้ประกอบการพิจารณาและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และครอบคลุมขึ้นต่อไป


ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ

สไลด์คุณสมชาย

สไลด์คุณสิทธิกร

สไลด์คุณสมชัย