หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่าย ร่วมแสดงพลังภาคเอกชน ใน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566”
พร้อมส่งเสียงถึงรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานวันต่อต้านคอรัปชันประจำปี 2566 เพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้คนในสังคมเล็งเห็นถึงปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเพื่อสร้างความร่วมมือในหลากหลายรูปแบบ ที่จะช่วยขจัดปัญหา คอร์รัปชันให้หมดไป โดยการจัดงานในปีนี้ ได้รับเกียรติจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาล
คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคุณอิสระ ว่องกุศลกิจ คุณพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทย
คุณวิชัย อัศรัสกร คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย พร้อมด้วยคณะกรรมกรรมและผู้บริหารหอการค้าไทย
ร่วมแสดงพลังของภาคธุรกิจเอกชน ในการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ พร้อมสานต่อเจตนารมณ์ของคุณดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าไทย ที่ได้มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สังคมลุกขึ้นมาร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชัน
จนกลายเป็นวาระแห่งชาติและเมื่อคุณดุสิต นนทะนาคร ได้เสียชีวิต เมื่อ 6 กันยายน 2554 จึงได้กำหนดให้ 6 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ”
สำหรับการจัดงานในปีนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด WHAT THE FACT ? “ค้นหาความจริง-ใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน”
เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตได้อย่างง่ายดาย โดยมีประชาชนและองค์กรต่าง ๆ กว่า 3,000 คน
ร่วมเดินขบวนพาเพรดแสดงพลังต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมนำเสนอ 5 ข้อเรียกร้องการต่อต้านคอร์รัปชันถึงรัฐบาลชุดใหม่
นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายรัฐมนตรี ที่เข้าร่วมประกาศพันธสัญญาต้านโกง เพื่อแสดงถึงจุดยืนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาลในครั้งนี้ด้วย
โดยทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผู้เป็นตัวแทนเสียงของประชาชน ได้เสนอข้อเรียกร้องเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันถึงรัฐบาลใหม่ 5 ข้อ ดังนี้
1.กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์
2.สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล
3.เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
4.ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง
5.แก้ไขกฎระเบียบราชการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม
ภายในงานได้จัดเวทีเสวนา “ACTIVE WOMEN” โดยเชิญสตรีผู้มีบทบาทด้านต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่ รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
คุณอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ คุณปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศข่าว คุณณัฏฐา มหัทธนา นักวิเคราะห์ประเด็นสังคม และคุณจงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง ดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน นอกจากนั้น ยังได้แสดงฟังก์ชั่นการใช้งานเว็บไซต์ “ACT Ai” ที่เปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโครงการทุจริตได้ง่ายๆ โดยหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังด้านไอที
สำหรับเจตนารมณ์ของ 'วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ' นั้น เพื่อสร้างความตระหนักใน ปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นภัยร้ายแรงและกำลังลุกลามหยั่งรากลึกในสังคมไทย จนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคมและโอกาสในการพัฒนาประเทศมายาวนาน ซึ่งเป็นหน้าที่คนไทยที่ต้องลงมือร่วมมือกันแก้ไขและไม่ยอมให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม การจัดงานแต่ละปีจึงให้ความสำคัญกับการรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงและการสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมเกิดพลังเข้มแข็งที่จะร่วมมือกันกำจัดคอร์รัปชั่นให้หมดไป