ย่อ / ขยาย

หอการค้าไทยเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดสตูล ล่องเรือเกาะตะรุเตา เกาะหลีเป๊ะ

p1dbcatg4s6oo18ek4ff7tc14qa4.jpg
p1dbcatg4t1ibg11jt9mqssq1ntb5.jpg
p1dbcatg4tal1g71h821nkfbi66.jpg
p1dbcatg4trmnshs17v5s51pi17.jpg
p1dbcatg4t1e4d5hof2610cts2h8.jpg
p1dbcatg4tj2m1bf11j0j99cd7p9.jpg
p1dbcatg4t63o147g1gdmnmg1shga.jpg
p1dbcatg4t1frk1tfenccb9vrkib.jpg
p1dbcatg4u1is6jen14h654bqmbc.jpg

    

คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยนายกลินท์ สารสิน ประธานฯ เดินทางเยี่ยมเยือนหอการค้าจังหวัดสตูล ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2562 โดยสายการบิน Nok Air เที่ยวบินที่ DD 7400 เมื่อถึงจังหวัดสตูล คณะฯ เดินทางไปยัง สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า เพื่อรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับเรื่อง อุทยานธรณีสตูล (SATUN GEOPARK) จากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ซึ่งอุทยานดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและโดดเด่นทางธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยา และวัฒนธรรม  มีเรื่องราวที่เชื่อมโยงคุณค่าของผืนแผ่นดินกับวิถีชีวิตชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยการอนุรักษ์ การถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน “อุทยานธรณีสตูล” (SATUN GEOPARK) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่  และชายหาดที่สวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้ ผืนดินแห่งนี้ เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า เกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น ต่อมามีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขา และถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบันผู้คนก็ยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่ และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ ด้วยความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศและธรรมชาติของอุทยานธรณีสตูล ก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตก ชายหาด รวมถึงเลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ชุมชน และสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย

จากนั้นคณะฯ เดินทางไปยัง ชุมชนบ้านท่าข้ามควาย หมู่ 6 ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เป็นชุมชนที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และป่าชายเลน ด้วยการพลิกฟื้นคืนป่า สร้างแหล่งอาหาร สร้างงาน และสร้างอาชีพ โดยเฉพาะการดูแลผืนป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำแหล่งอาหาร อาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน ก่อนต่อยอดมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านท่าข้ามควาย จนมีรางวัลโอทอปนวัตวิถีการันตี นอกจากจะสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างจิตสำนึก พัฒนาสามัคคีตามวิถีท่าข้ามควาย ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ที่นี่ยังบริหารจัดการท่องเที่ยวแบบการมีส่วนร่วมเพื่อให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งนั่งเรือชมความสมบูรณ์ของป่าชายเลน ที่มีมากถึง 2,500 ไร่ แวะให้อาหารนกเหยี่ยวกลางทะเล และสัมผัสวิถีคนในชุมชนอีกมากมาย จากนั้นคณะฯ เดินทางไปที่โรงแรม ชีวาเลย์ บีช รีสอร์ท เพื่อเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดสตูล และเยี่ยมชม อุดหนุนสินค้า OTOP ท้องถิ่น อาทิเช่น อาหารทะเลตากแห้ง เมล่อน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อน และผลิตภัณฑ์ภาชนะจักสานต่างๆ พร้อมร่วมรับประทานอาหารค่ำในงานเลี้ยงต้อนรับด้วย

    

วันต่อมา คณะฯ ออกจากโรงแรมที่พัก เดินทางไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวท่าเรือปากบารา เพื่อร่วมฟังการบรรยายสรุป เรื่อง การบริหารจัดการท่าเทียบเรือปากบารา ณ ชั้น 2 ห้องประชุมศูนย์บริการนักท่องเที่ยวท่าเรือปากบารา พร้อมร่วมเสนอความคิดเห็น เพื่อนำไปพัฒนาการจัดการท่าเรือต่อไป ท่าเรือปากบาราปัจจุบันเป็นท่าเรือหลักสำหรับคนที่ต้องการจะเดินทางไปเที่ยวหมู่เกาะตะรุเตา เกาะหลีเป๊ะ หรือแม้แต่การเดินทางข้ามประเทศไปยังเกาะลังกาวีประเทศมาเลเซียก็ทำได้ ซึ่งตัวท่าเรือปากบารา อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตา(จุดที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมุ่เกาะตะรุเตา) เพียง22 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าการขึ้นจากท่าเรือในจุดอื่นหรือจังหวัดอื่น บริเวณท่าเรือปากบารามีผู้ให้บริการเรือนำเที่ยวและเรือโดยสารเอกชนไปยังเกาะต่างๆอยู่หลายเจ้า มีทั้งที่เป็นเรือเมล์ และเรือเช่าเหมาลำ มีเรือออกทั้งวัน บริเวณท่าเรือยังมีที่จอดรถไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย และนักท่องเที่ยวยังสามารถหาข้อมูลการท่องเที่ยวจากแผนที่แจกฟรีที่มีแจกอยู่หลายฉบับบริเวณท่าเรือ หรือติดต่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาได้ที่ท่าเรือใหม่แห่งนี้อีกด้วย

จากนั้น คณะฯ นั่งเรือ Speed Boat ไปยังเกาะตะรุเตา เพื่อเยี่ยมชมวิวทิวทัศน์โดยรอบ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปประวัติความเป็นมา และข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเกาะตะรุเตา เป็นเกาะหลัก ซึ่งประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ในปี พ.ศ. 2516 เกาะใหญ่ที่สุดในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จะประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวน 51 เกาะ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ห่างจากเกาะลังกาวี ของมาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่บนเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมต คำว่า "ตะรุเตา" เป็นภาษามลายู เพี้ยนมาจากคำว่า ตือโละตาวาร์ (Teluk Tawar) แปลว่า "อ่าวจืด" หรือ "อ่าวน้ำจืด" เพราะบนเกาะแห่งนี้เป็นเกาะที่เดียวที่มีธารน้ำจืดอยู่ด้วย จากนั้นเดินทางออกจากเกาะตะรุเตา มุ่งหน้าสู่เกาะหลีเป๊ะ โดยระหว่างการเดินทาง ได้ผ่านหมู่เกาะต่างๆ อาทิเกาะไข่ เกาะหินงาม  เกาะระวี เป็นต้น

    

    

คณะฯ เดินทางถึงท่าเรือโรงแรม บันดาหยา รีสอร์ท เกาะหลีเป๊ะ และร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นกับผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะเกี่ยวกับการเสริมสร้างการท่องเที่ยวบนเกาะ การประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ โดยเกาะหลีเป๊ะ เป็นเกาะกลางทะเลอยู่ในเขตจังหวัดสตูล อยู่ทางตอนใต้ของเกาะอาดัง ห่างจากแผ่นดินของจังหวัดสตูล 85 กิโลเมตร เขตอำนาจการควบคุมของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาในจังหวัดสตูล เป็นชายหาดบนเกาะที่อุดมไปด้วยท้องทะเลที่สดใสสะอาด สวยงาม เป็นเกาะที่เงียบสงบ และมีน้ำที่ตื้นเขิน จุดเด่นของทางเกาะหลีเป๊ะ คือ ความเป็นธรรมชาติของปะการังรายล้อมรอบเกาะ มีเวิ้งอ่าวที่สวยงาม หาดทรายละเอียดนิ่มนวลขาวเหมือนแป้ง เกาะหลีเป๊ะ มีชายหาดที่สำคัญ ๆ อยู่ 4 หาด ได้แก่

  1. หาดพัทยา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะหลีเป๊ะ เป็นเกาะที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปมากที่สุด
  2. หาดซันไรท์ อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะหลีเป๊ะ ใกล้ ๆ กับหมู่บ้านชาวเล
  3. หาดคาร์มา อยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งหันหน้าเข้ากับเกาะอาดัง
  4. หาดซันเซ็ท อยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งหันหน้าเข้ารับแสงของพระอาทิตย์ ตามชื่อของหาด
เกาะหลีเป๊ะ เป็นเกาะที่มีความกว้างระหว่างหัวเกาะไปถึงท้ายเกาะประมาณ 3 กิโลเมตร จัดเป็นเกาะขนาดเล็ก ถือเป็นเกาะที่อยู่สุดท้ายทางตอนใต้ของทะเลอันดามันของไทย เนื่องจากพื้นที่ถัดไปคือทะเลสากลที่เชื่อมกับทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย
 
-------------------------------------------
Presented by Corpcomm Team | Thai Chamber
ติดตามข่าวสารและภาพกิจกรรมของหอการค้าไทยได้ที่
Website : https://www.thaichamber.org
FB : https://www.facebook.com/ThaiChamber
Line  : @tccline (ใส่ @ ด้วยครับ)
YouTube Channel : หอการค้าไทย Official

ข่าวอื่นๆ